6.2.14

แหล่งเรียนรู้กับการชุมนุมทางการเมือง ?

        
เดินรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
         คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน จะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเรา จนหลายคนมองว่าการชุมนุมเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมที่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การทำให้นานาประเทศเป็นกังวลจนทำให้บางประเทศประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงนี้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งการชุมนุมทางการเมืองก็มีประโยชน์ทางการเรียนรู้อย่างหนึ่งเช่นกัน
มันจะเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างไรกัน เป็นคำถามแรกที่ผมตั้งคำถามขึ้นมา ถามเพื่อน เพื่อนก็ไม่แน่ใจ ถามตัวเอง ตัวเองก็ว่ามันใช่นะ...แต่ ด้วยความไม่รู้จึงลองไปถามท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ตอบกลับมาว่าเป็น! หลังจากนั้นจึงลองศึกษาเอกสารข้อมูลในเรื่องแหล่งเรียนรู้ จึงพบกับคำตอบที่ว่า “มันก็เป็นทุก ๆ ที่แหละ” ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ บุคคล สัตว์ สิ่งของ แล้วทำไมการชุมนุมจะไม่ใช่
เมื่อลองมาศึกษา การชุมนุมทางการเมืองจัดอยู่ในประเภทของแหล่งทรัพยากรประเภทบุคคล ในทีนี้ก็คือผู้นำหรือแกนนำ ที่มีความสามารถ มีความรู้เป็นที่ยกย่องจากผู้ชุมนุม จนทำให้สามารถนำพามวลชนมาสู่อุดมการณ์เดียวกันได้ โดยแกนนำจะมีหน้าที่ให้ความรู้หรือการปราศรัยบนเวที และคอยวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุแก่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งสิ่งนี้เองผู้ชุมนุมหรือผู้ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์จำเป็นต้องคิดและไตร่ตรองให้ดี เพื่อไม่ให้การเรียนรู้กลายเป็นการถูกล้างสมองไปโดยสิ้นเชิง
วัน Bangkok Shutdown ทางไปแยกราชประสงค์
แล้วผู้ที่มาศึกษาในแหล่งเรียนรู้นี้จะได้อะไรและอย่างไร แน่นอนได้ความรู้ทางด้านการเมือง สถานการณ์ปัจจุบันหรือเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างเต็มเปี่ยม ยกตัวอย่างครั้งที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมลได้มาปราศรัยบนเวที กปปส. ท่านได้นำเสนอแนวคิดและให้เหตุผลต่าง ๆ ด้วยคำพูดที่สุภาพ ว่าทำไมท่านถึงต้องมาร่วมกับเหล่ามวลมหาประชาชน และทำไมท่านถึงปฏิเสธการเลือกตั้ง ทุกคำพูดไม่ได้พูดเปล่า ๆ ท่านใช้เหตุผลพร้อมแหล่งอ้างอิง มากำกับเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือและสำหรับผมคนที่ไม่ประสีประสาเรื่องการเมือง ทำให้ผมได้ขบคิดและได้วิเคราะห์ตามไปด้วย หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่าทำไมท่านถึงมาร่วมชุมนุม แค่นี้ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามการได้มาศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะผู้ที่มาศึกษาจะได้รับความรู้ไปเพียงด้านเดียว ผู้มาศึกษาจำเป็นต้องนำความรู้นั้นไปวิเคราะห์ศึกษาเพิ่มเติม ว่ามันเป็นด้านที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมันจะส่งผลให้เราเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไปโดยไม่รู้ตัว 
ความหมายของการชุมนุมอาจเป็นที่มาของเครือข่ายการเรียนรู้ เพราะเกิดจากการขบคิดร่วมกันของชุมชนหรือคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือเพื่อการมีอำนาจต่อรอง ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ การร่วมกันของกลุ่ม กปปส. ที่มีผู้นำคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รวมตัวกันกับมวลมหาประชาชนเพื่อที่จะต่อรองกับรักษาการณ์นายกในขณะนี้ให้ลาออกไปด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม และทางกลุ่ม กปปส. ก็ได้ใช้วิธีเครือข่ายการเรียนรู้โดยการแพร่กระจายข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางดาวเทียมช่อง Bluesky ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อเชื่อโยงกับคนทั้งโลกให้สามารถรับรู้ข่าวสารและติดต่อเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เราจึงมีโอกาศได้เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในต่างประเทศออกมาแสดงตนบ่อยครั้ง
ลานถนนคนเดินหน้าสยามพารากอน
การนำมาบูรณาการร่วมกันกับวิชาเรียนในห้องเรียน สามารถนำมาใช้ได้ในรายวิชาที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์สื่อ ข้อมูล ข่าวสาร นั่นก็คือ การรู้จักวิเคราะห์ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ เพราะแหล่งเรียนรู้นี้เรามีโอกาศได้ฟังข้อคิดเห็นแนวคิดต่าง ๆ จากบุคคลทั่วไปและนักวิชาการหลายแขนง ทำให้เราต้องตื่นตัวในความคิดหรือแยกแยะได้ ว่าสิ่งไหนถูกต้องควรสนับสนุน หรือสิ่งไหนไม่ถูกต้องควรหลีกเลี่ยง และอีกหนึ่งวิชาคือวิชาสังคมศึกษาในเรื่องของการเมืองการปกครอง และกฎหมาย เพราะเมื่อเรารู้จักที่จะวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เราก็จะได้รับการต่อยอดความรู้ด้านนี้ควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่ผมได้รับจากการมาร่วมชุมนุมหรือใช้แหล่งเรียนรู้ในครั้งนี้ คือการรู้จักวิเคราะห์ข่าวสารหรือที่มาที่ไปในสังคมไทย การรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง นอกจากนี่ผมยังได้เห็นอีกมุมหนึ่งของคนไทยคือความสามัคคีกันในกลุ่มหรือหมู่คณะ แม้กระทั่งรอยยิ้มที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบันแต่สามารถมอบให้กันอย่างง่ายดายเมื่อเห็นนกหวีดที่คล้องคอ เรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์และความรู้ดี ๆ ซึ่งหาได้ยากในห้องเรียน และจะหาไม่ได้นอกจากออกไปดูโลกกว้างเท่านั้น